กระทรวงคมนาคมเร่งเครื่องรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ–โคราช ด้าน รฟท. กำชับผู้รับเหมาดันงานสัญญา 3-5 และ3-4 ให้เสร็จตามแผน ขณะที่สัญญา 4-5 จ่อลงนาม ก.ค.นี้ หลังเคลียร์ประเด็นมรดกโลกจบ ปักธงเปิดใช้ปี 72
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา ว่า ขณะนี้ การดำเนินงานส่วนงานโยธาทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้แบ่งสัญญาออกเป็น 14 สัญญา ซึ่งมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา ขณะเดียวกันได้เตรียมลงนามสัญญา 2 สัญญา (สัญญาที่ 4-1 และ 4-5) ส่วนงานระบบรางและการจัดหาขบวนรถอีก 1 สัญญา อยู่ระหว่างการออกแบบ โดยสัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กิโลเมตร (กม.) คืบหน้า 13.35% ล่าช้า 30.83% เนื่องจากเข้าพื้นที่ได้เพียง 44% รอการปรับแบบจากคันทางระดับดินเป็นทางรถไฟยกระดับในช่วงต้นของสัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติปรับรูปแบบโครงสร้างก่อนดำเนินการก่อสร้างต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขยายสัญญา 3-5 ออกไปสิ้นสุดวันที่ 10 มี.ค.2569 ซึ่งยังไม่รวมช่วงเวลายกเว้นค่าปรับ 0% อีกจำนวน 521 วัน และระยะเวลาการก่อสร้างจากการปรับรูปแบบโครงสร้างเพิ่มเติมอีก 36 เดือน สำหรับช่วงที่มีการปรับแบบใหม่ทำให้คาดว่า งานโยธาของสัญญา 3-5 นี้ จะแล้วเสร็จในปี 2571 เพื่อเร่งรัดโครงการให้เป็นไปตามแผน รฟท. ได้ กำชับที่ปรึกษาควบคุมงานและผู้รับจ้างให้เร่งดำเนินการก่อสร้างทางชั่วคราว พร้อมทางหลีกและทางเข้าโรงรถจักรและโรงงานนครราชสีมาให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.2568
สำหรับความคืบหน้าสัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้วและกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. คืบหน้า96.79% อย่างไรก็ตาม รฟท. ได้เร่งรัดให้ดำเนินการงานส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2569 ขณะที่สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ยังไม่ลงนามก่อสร้างเนื่องจากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรณีการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา โดยคาดว่าจะสามารถลงนามจะสามารถลงนามสัญญาที่ 4-5 กับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ได้ภายในเดือน ก.ค.นี้